ในวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สำคัญต่อการมีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และสติปัญญา ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เร็งขึ้นคงหนีไม่พ้น ของเล่น ที่เด็กทุกคนหรือพ่อแม่ทั้งหลายได้เลือกมาให้ลูกๆ
การเลือกของเล่นเด็ก เสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
หลักของการเลือกของเล่นที่มีผลต่อการเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ในวัยเด็ก ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และความต้องการของเด็กวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ควรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของการเล่นและของเล่นที่เหมาะสม เนื่องด้วยในวัยเด็กนี้จะเป็นวัยที่มีจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ หากเราได้หาสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเขาแล้ว เด็กก็จะเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น.
การเลือกของเล่นให้เด็กเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และผลต่อพัฒนาการที่จะตามมา ในขณะที่ผู้ผลิตของเล่นต่างแข่งขันผลิตออกมาขายจำนวนมาก บางครั้งผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ใดที่เหมาะกับเด็ก หรือแม้แต่คำอธิบายจากตัวสินค้าก็ไม่ละเอียดพอที่จะเข้าใจ ทำให้บางคนซื้อของเล่นให้ลูกเพราะคิดว่ามันน่าจะดีเท่านั้น
การเลือกของเล่นที่ดีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตามศักยภาพของเด็ก จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากของเล่นเป็นสื่อกลางช่วยเปิดโลกภายในของเด็กออกสู่ภายนอก ทำให้เด็กได้ค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตนเองด้วยตนเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น ทว่าการเล่นของเล่นจะปราศจากความหมาย หากเด็กไม่ได้รับความสนใจเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนการชี้แนะหรือเล่นร่วมกับเด็กเมื่อเด็กต้องการ
รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัย นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตและพัฒนาการทุกๆ ด้านของมนุษย์ ทั้งนี้ การเล่นและของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย นับเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และความต้องการของเด็กวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ควรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของการเล่นและของเล่นที่เหมาะสม
รศ.ดร.จิตตินันท์ บอกว่า เด็กปฐมวัยจะมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นในชีวิตประจำวันตามความสนใจและความพอใจของตนเอง ขณะที่เล่นนั้นเด็กได้ใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการสำรวจคุณสมบัติของสิ่งที่เล่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เล่นด้วยหรือวัตถุสิ่งของหรือของเล่น พร้อม ๆ ไปกับการรับรู้สิ่งที่เล่นผ่านอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการทำงานของสมองในการจดจำเป็นข้อมูลความคิดความเข้าใจต่อสิ่งนั้น
"เด็กจะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนเล่นหรือของเล่น โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองและมีผู้คอยชี้แนะให้ข้อมูลหรือสอนให้รู้จักคำบอกของชื่อเรียกสิ่งต่างๆรอบตัว หรือความหมายของสิ่งเหล่านั้นทีละเล็กละน้อย จากเรื่องที่ง่ายๆไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามความสามารถของวัย"
การเล่นและของเล่นสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยมีความหมายและความสำคัญต่อชีวิตเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการเล่น ถือเป็นรากฐาน (foundation) ที่สะสมเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงวัยต่อๆมา เด็กที่ขาดโอกาสในการเล่น หรือไม่เคยมีประสบการณ์ในการเล่น ย่อมมีโอกาสที่จะประสบปัญหาในการเรียนรู้และมีพัฒนาการล่าช้าได้
รศ.ดร.จิตตินันท์ แนะนำหลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างง่ายๆ 4 ข้อคือ
1. ต้องดูที่ความปลอดภัยในการเล่น ของเล่นอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะ ที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับผิวสัมผัสที่แหลมคมหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก
2.ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการ ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว
3.ประสิทธิภาพในการใช้เล่น ควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุและความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไปจะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็กและทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้ และ
4.ความประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ของเล่นที่ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น เครื่องเล่นสนามประเภท เสาชิงช้า ราวโหน ไม้ลื่น ไม้กระดาน อุโมง บ่อทราย เครื่องเล่นที่มีล้อเลื่อนได้ เป็นต้น
- ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เช่น ของเล่นประเภทบีบ ตี เขย่า สั่น หมุน บิด ดึง โยน ผลัก เลื่อน เป็นต้น
- ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้สายตาและมือให้สัมพันธ์กัน เช่น ของเล่นประเภทตอก กด ตี ปัก เย็บ ผูก กระดานปักหมุด ผูกเชือก ผูกโบว์ กรอกน้ำใส่ขวด เป็นต้น ของเล่นที่พัฒนาทักษะทางภาษา เช่น ภาพสัตว์ ผลไม้ ตัวพยัญชนะ เทปเพลง เป็นต้น
- ของเล่นที่ฝึกการสังเกต เช่น โดมิโน กระดานต่อภาพ กล่องหยอดบล็อกต่าง ๆ เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและใช้สมาธิ เช่น ภาพตัดต่อ ของเล่นชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นสิ่งต่าง ๆ เกมค้นหาชิ้นส่วนที่หายไป เป็นต้น
รศ.ดร.จิตตินันท์ ได้อธิบายถึงพฤติกรรมการเล่นของเด็กว่า
เด็กวัย 0-1 ปี เด็กวัยนี้ในช่วงแรกเกิด - 3 เดือน จะยังไม่สนใจกับการเล่นมากนัก แต่เด็กจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใสที่แกว่งไกวแล้ว มีเสียงกรุ๋งกริ๋งช่วยให้เด็กกรอกสายตา
กิจกรรมการเล่นที่เหมาะสม ในเด็กวัย 0 - 1 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นหยอกล้อเด็กด้วยคำคล้องจองมีการแสดงสีหน้าท่าทางและใช้เสียงสูง ๆ ต่ำ ให้เด็กสนใจ เช่น การเล่นปูไต่ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นจับปูดำ การเล่นซ่อนหาของ
เด็กวัย 1-2 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเดินได้เองบ้างแม้จะไม่มั่นคงนักแต่ก็ชอบเกาะเครื่องเรือนเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ของเล่นควรเป็นประเภทที่ลากจูงไปมาได้ ประเภทรถไฟหรือรถลาก
และการเล่นสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การให้เด็กบริหารแขนขา การเล่นดิน-ทราย-น้ำ การหยิบของตามคำบอก เป็นต้น
เด็กวัย 2-4 ปี เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดีเพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงขึ้นมาก ทำให้ชอบเล่นที่ออกแรงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ม้วนกลิ้งตัว เตะขว้างลูกบอล และขี่จักรยานสามล้อ ควรจัดให้เด็กใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการแสดงบทบาทสมมติหรือผลงานทางศิลปะ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ การเล่นขายของ การเล่นสร้างงานศิลปะ เป็นต้น
เด็กวัย 4-6 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนามและเครื่องเล่นที่มีลูกล้อขับขี่ได้ เด็กพอใจที่จะเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มมากขึ้น ควรจัดให้เป็นการเล่นที่เด็กสามารถสะท้อนความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ เช่น การวาดภาพและเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ใช้ทักษะการสังเกตเปรียบเทียบ
รศ.ดร.จิตตินันท์ แนะนำหลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างง่ายๆ 4 ข้อคือ
พัฒนาการของลูกน้อยวัย 0-3 เดือน
พัฒนาการของลูกวัยนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ยังสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ไม่มากนัก แต่การส่งเสริมพัฒนาการในช่วงนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของพัฒนาการขั้นต่อไปของเขา
พัฒนาการทางด้านร่างกาย
- สำหรับทารกปกติทั่วไปจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1 กิโลกรัมในช่วง 2 เดือนแรก
- หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 0.5 กิโลกรัม
- ความยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ซม.ต่อเดือน
วิธีส่งเสริม
- ให้รับประทานนมเป็นอาหารหลัก นมแม่ดีที่สุด หากมีความจำเป็นไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรเลือกนมผสมที่มีส่วนประกอบใกล้เคียงนมแม่
- สังเกตว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ให้ดูจากน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ปัสสาวะวันละ 3-5 ครั้งต่อวัน และดูสดชื่นแจ่มใส
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
- ลูกจะพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ ทำให้สามารถผงกศีรษะ ชันคอ และหันซ้ายหันขวาในท่านอนคว่ำได้
วิธีส่งเสริม
- การอุ้มลูกพาดบ่าในท่าคว่ำหน้า ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอและหลังได้
- เมื่อลูกนอนคว่ำ คุณพ่อคุณแม่ยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ประมาณ 8-14 นิ้วฟุต แล้วค่อยๆ ขยับใบหน้าไปในทิศทางขึ้นลง หรือซ้ายขวา พร้อมกับส่งเสียงพูดคุย เพื่อให้ลูกได้พยายามผงกศีรษะขึ้นลง และหันหน้าตาม
- หากต้องการให้ลูกนอนคว่ำไม่ควรใช้หมอนหนุน และเลือกที่นอนที่ไม่นิ่มจนเกินไป
พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- มองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวในระยะที่สายตามองเห็นประมาณ 8-14 นิ้วฟุตในช่วงแรกเกิด แล้วค่อยๆ มองตามได้ในรัศมีกว้างขึ้นและระยะไกลขึ้น
วิธีส่งเสริม
- แขวนโมบายล์สีสันสดใสขนาดใหญ่พอสมควร ในระยะห่างประมาณ 8-14 นิ้วฟุต
- วางของเล่นชิ้นโปรดด้านหน้าลูก ยกของเล่นขึ้นลงในแนวดิ่ง ขยับซ้ายขวา เพื่อให้ลูกมองตาม
พัฒนาการด้านภาษา
- จากการสื่อสารด้วยเสียงร้องเพียงอย่างเดียว ลูกจะพัฒนามาส่งเสียงอ้อแอ้ โต้ตอบเสียงพูดคุยของแม่ได้
วิธีส่งเสริม
- พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ผ่านกิจวัตรประจำวันที่ทำร่วมกัน เช่น “อาบน้ำกันนะจ๊ะ” “ได้เวลากินนมแล้วจ๊ะ”
พัฒนาการด้านสังคม
- ใช้เสียงร้องเพื่อบอกความต้องการ เช่น หิว ไม่สบายตัว ปวด เจ็บ ง่วง ฯลฯ
- ลูกพัฒนาจากที่ไม่จ้องหน้า ไม่สบตาแม่เมื่อแรกเกิด มาเป็นมองหน้า สบตา และยิ้มให้แม่ได้
- ตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคยของคุณพ่อคุณแม่ด้วยการหยุดร้อง หรือส่งเสียงอ้อแอ้ในคอ
วิธีส่งเสริม
- อุ้ม โอบกอด สัมผัส พูดคุยกับลูกบ่อยๆ เวลาพูดคุยกับลูกให้ยื่นหน้าเข้าไปในระยะประมาณ 12 นิ้วฟุต
- พูดคุยและเล่นกับลูกขณะแต่งตัว ให้นม และผ่านกิจวัตรประจำวันอื่นที่ทำร่วมกัน
พัฒนาการของลูกน้อยวัย 3 - 6 เดือน
ช่วงวัยนี้ พัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อยมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาเริ่มเข้าใจภาษาและเริ่มซนแล้วล่ะ
พัฒนาการด้านร่างกาย
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 0.5 กิโลกรัม
- ความยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0 ซม.ต่อเดือน
วิธีส่งเสริม
- ช่วงนี้ยังให้นมเป็นอาหารหลัก
- เริ่มอาหารเสริมตามวัยทดแทนนม 1 มื้อเมื่ออายุ 4 เดือน
- หากแม่สุขภาพแข็งแรง และมีภาวะโภชนาการดี อาจให้นมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน
- พยายามงดนมมื้อดึกเมื่ออายุประมาณ 4 เดือนไปแล้ว
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
- ถ้าจับนั่งจะยกศีรษะตั้งตรงได้ และนั่งพิงได้นานขึ้น
- เริ่มคว่ำและหงายเองได้เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป
- เมื่ออุ้มในท่ายืน ชอบเอาเท้ายันพื้นและกระโดดไปมา
วิธีส่งเสริม
- เล่นกับลูกด้วยของเล่นชิ้นโปรด เพื่อให้ลูกได้พยายามพลิกคว่ำพลิก
หงาย
พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
- เริ่มไขว่คว้า และถือของเล่นได้ หลังจากนั้นจะสามารถพัฒนาไปเปลี่ยนมือถือของได้
- มองเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวและวัตถุที่มีสีสันได้ในระยะที่ไกลขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้เคียงผู้ใหญ่เมื่ออายุ 6 เดือน
- สำรวจสิ่งของต่างๆ ด้วยการหยิบเข้าปาก
- ใช้มือประคองขวดนมได้เอง
วิธีส่งเสริม
- จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เอื้อกับการเคลื่อนไหวของลูก ไม่วางข้าวของเกะกะ จนอาจเป็นอันตราย
- หาของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียงเล่นกับลูก ฝึกให้เขาเอื้อมมือคว้าของ เขย่า และถือของเปลี่ยนมือ
- หาของเล่นที่ปลอดภัยและมีผิวสัมผัสที่หลากหลายให้ลูกเล่น เช่น ของเล่นไม้ ผ้า พลาสติก ยาง
พัฒนาการด้านภาษา
- ส่งเสียงหัวเราะเสียงดัง
- หันตามเสียงเรียก
วิธีส่งเสริม
- พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ผ่านกิจวัตรประจำวันที่ทำด้วยกัน โดยใช้ภาษาสั้นๆ ง่ายๆ น้ำเสียงสูงต่ำ น่าฟัง
พัฒนาการด้านสังคม
- จำพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูที่คุ้นเคยได้เมื่ออายุประมาณ 5 เดือน
- เริ่มแยกแยะคนแปลกหน้าได้เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
- จำชื่อตัวเองได้และหันหาเสียงเรียกชื่อตัวเองได้
- แสดงอาการตอบสนองทางอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทาง เช่น กลัว โกรธ
วิธีส่งเสริม
- เรียกชื่อลูกบ่อยๆ เล่นและพูดคุย ร้องเพลงกับลูกบ่อยๆ
- อุ้มลูกนั่งตักและอ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทานให้ลูกฟัง
- หาโอกาสให้ลูกได้พบปะคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยบ้าง
- สนใจและตอบสนองลูกผ่านการเล่น หยอกล้อ
- พูดเลียนแบบลูกเพื่อให้ลูกพูดเลียนแบบพ่อแม่บ้าง
- ให้ลูกฟังเพลง ดนตรี เสียงโทรศัพท์ เพื่อเรียนรู้ความแตกต่าง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น